วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เหตุสุดวิสัย

ขณะนี้มีผู้ประกอบการขอขยายเวลาการส่งมอบพัสดุครุภัณฑ์โดยกล่าวอ้างเหตุสุดวิสัยมาเพื่อขอขยายเวลา จึงขอนำเรื่องเหตุสุดวิสัยมาเพื่อพิจารณา
เหตุสุดวิสัย  หมายถึง เหตุการณ์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันโดยไม่มีบุคคลใดคาดหมายหรือคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น  และไม่อาจป้องกันหรือหลีกเลี่ยงให้พ้นไปได้  แม้ว่าตนเองจะได้ใช้ความระมัดระวังแล้วก็ตาม  ทำให้ตนเองหลุดพ้นจากความรับผิดทั้งปวง  ไม่ว่าจะเป็นความรับทางแพ่งหรือทางอาญาก็ตาม  ซึ่งตามพจนานุกรม  ให้ความหมายของคำว่า  เหตุสุดวิสัย  ว่าคือ  เหตุที่พ้นความสามารถของใครอันที่ป้องกันได้  และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 8  บัญญัติว่า   คำว่า    เหตุสุดวิสัย    หมายความว่า    เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดีจะให้ผลพิบัติก็ดี   เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น   จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น   นอกจากนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 10  และ มาตรา 23  ได้บัญญัติในเรื่องเกี่ยวกับเหตุสุดวิสัยไว้ด้วย
                   มาตรา 10  ถ้าไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นที่มีเขตศาลเหนือคดีนั้นได้โดยเหตุสุดวิสัย  คู่ความฝ่ายที่เสียหายหรืออาจเสียหายเพราะการนั้นจะยื่นคำขอฝ่ายเดียว  โดยทำเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้นซึ่งตนมีภูมิลำเนาหรืออยู่ในเขตศาลในขณะนั้นก็ได้  และให้ศาลนั้นมีอำนาจทำคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
                        มาตรา 23  เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องเพราะให้ศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งขยาย  หรือย่นระยะเวลาตามที่กำหนด  ไว้ในประมวลกฎหมายนี้  หรือตามที่ศาลได้กำหนดไว้  หรือระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง  อันกำหนดไว้ในกฎหมายอื่น  เพื่อให้ดำเนินหรือมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ก่อนสิ้นระยะเวลานั้น    แต่การขยายหรือย่นเวลาเช่นว่านี้ให้พึงทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ   และศาลได้มีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้น    เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย

                      เหตุสุดวิสัย  เช่น  เหตุที่เกิดจากภัยธรรมชาติ  เช่น  น้ำท่วมทำให้ถนนขาด  หรือสะพานขาด  ไม่อาจใช้สัญจรผ่านไปมาได้  หรือเกิดเหตุจากการกระทำของบุคคลอื่นโดยกะทันหัน  หรือมีเหตุการณ์อื่นๆ เกิดขึ้นโดยฉับพลัน    ซึ่งตนเองไม่อาจป้องกันหรือโดยไม่อาจบังคับมิให้เกิดเหตุดังกล่าวขึ้นได้  หรือไม่อาจหลีกเลี่ยงมิให้พบเจอเหตุดังกล่าวได้  แต่ถ้าเป็นเหตุธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำย่อมไม่อาจถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยได้
                   ส่วนเหตุพฤติการณ์พิเศษ  คือ  เหตุการณ์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้วทำให้คู่ความไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่งได้    ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้   หรือมีความจำเป็นที่จะต้องรีบดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่งให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว    มิฉะนั้นจะเกิดความเสียหายแก่ตนเอง    แต่ยังไม่ถือขนาดที่จะเป็นเหตุสุดวิสัยได้
ตัวอย่างฎีกาย่อ (ค้นหาฎีกาเต็มได้จาก แผ่นฎีกา คุณสมเกียรติ  เจริญมหรรชัย)
1.ไม่สามารถส่งมอบทรัพย์ที่ซื้อขายจะอ้างเหตุว่าผู้ผลิตไม่สามารถ             ฎ 4056-57/2532
          ส่งมอบให้ตนได้  ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย
2.ลมพายุพัดแรง  อาคารที่ก่อสร้างไว้ชำรุดบกพร่อง  ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย        ฎ 2140/2520